วัดบางกุ้ง

วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วัดบางกุ้ง 
อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
 







เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ในเขตตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ปีพ.ศ. ๒๓๐๘ กองทัพพม่ายกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้หัวเมืองปากใต้ยกกองทัพเรือมาตั้งค่ายสร้างกำแพงล้อมวัดบางกุ้งที่ตำบลบางกุ้ง เมืองสมุทรสงคราม เรียกว่า “ค่ายบางกุ้ง” กองทัพพม่าซึ่งยกทัพเข้ามาตามลำน้ำแม่กลองและ บุกลงมาจนถึงค่ายบางกุ้ง โดยที่กองทัพของกรุงศรีอยุธยาไม่สามารถต้านทานไว้ได้ค่ายบางกุ้งจึงแตก หลังจากพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ค่ายบางกุ้งก็ตกอยู่ในสภาพค่ายร้าง เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสถาปนากรุงธนบุรีแล้ว โปรดให้ชาวจีนรวบรวมสมัครพรรคพวกมาตั้งเป็นกองทหารรักษาค่ายเก่าที่บางกุ้ง จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “ค่ายจีนบางกุ้ง” ในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาไปประมาณ ๘ เดือน กองทัพพม่านำโดยเจ้าเมืองทวายยกทัพบกและทัพเรือลงมาล้อมค่ายจีนบางกุ้งไว้ ทหารจีนที่รักษาค่ายบางกุ้งสู้รบอย่างเต็มที่แต่มีกำลังน้อยกว่าเกือบจะเสีย ค่ายแก่พม่า กรมการเมืองสมุทรสงครามจึงมีหนังสือกราบทูลไปยังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบจึงยกกองทัพมาตีทัพพม่าแตกพ่ายไป และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกกองทัพเรือนำทหารไปออกศึกที่บางแก้ว เมืองราชบุรี ในระหว่างการเดินทางได้หยุดกองทัพพักพลเสวยพระกระยาหารที่วัดกลางค่ายบางกุ้ง
หลักฐานโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พระอุโบสถก่ออิฐถือปูนปัจจุบันถูกต้นไทรขึ้นปกคลุมทั้งหลังหน้าบันของพระ อุโบสถ มีปูนปั้นลวดลายพันธุ์พฤกษาประดับด้วยเครื่องถ้วยซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของ สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

พระอุโบสถที่ถูกต้นไทรปกคลุม 1 ใน unseen Thailand ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่สมัยอยุธยาตอนปลาย สลักจากหินทรายแดง แสดงปางมารวิชัย ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อโบสถ์น้อย” ที่ฝาผนังของพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปพระอดีตพุทธเจ้า และภาพพุทธประวัติ นอกจากนี้ยังมีสระน้ำโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดความกว้างประมาณ ๕ เมตร ความยาว ๗ เมตร ที่ขอบสระมีกำแพงเตี้ยกั้น และกรุด้วยอิฐถือปูนลักษณะสอบลงไป ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดบางกุ้งเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓ ตอนพิเศษ ๕๐ เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
ที่วัดบางกุ้งนี้เองมีศาลอยู่ทางด้านหลัง โดยมีชื่อว่า "ศาลนางไม้เจ้าจอม" หรือศาลขององค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า) ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ มีคนให้ความเคารพนับถือกันมาก
ศาลมีประวัติความเป็นมาดังนี้
ศาลนางไม้เจ้าจอม วัดบางกุ้ง (ข้อมูลนี้ได้มาจากนิตยสารมิติหลอน เล่าโดย ร.ศ. หญิงพจน์ฤดี ข้าราชการสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข)
เมื่อปี พ.ศ. 2531 บริเวณวัดเป็นป่ารกร้าง พระวินัยธร องอาจอาริโยได้เดินธุดงค์มาที่บริเวณวัดบางกุ้ง ปักกลดปฏิบัติธรรมอยู่ข้างอุโบสถหลวงพ่อนิลมณีหรืออุโบสถปรกโพธิ์ ซึ่งเงียบสงบเหมาะแก่การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฎฐาน ท่านได้เดินสำรวจบริเวณวัดซึ่งทราบมาบ้างว่า วัดนี้เคยเป็นค่ายทหารจีนบางกุ้งสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานีมาก่อน ยามดึกขณะเจริญกรรมฐานมักจะเกิดนิมิตเห็นผู้หญิงคนหนึ่งแต่งชุดไทยโบราณ มากราบไหว้หลวงพ่อนิลมณีหน้าอุโบสถปรกโพธิ์เป็นประจำ มีลักษณะผอมสูงผมยาวใบหน้างาม แต่ไม่ทราบว่าเป็นใคร ต่อมาไม่นานเสาคานที่หน้าอุโบสถหล่นตกลงมาพิงอยู่ข้างอุโบสถ คืนนั้นเองท่านได้นิมิตเห็นผู้หญิงชุดไทยคนเดิมมาบอกให้นำไม้ท่อนนี้มาไว้ ที่หลังอุโบสถแล้วให้สร้างศาลด้วยท่านก็ทำตาม
ให้ชาวบ้านช่วยกันนำไม้มาไว้หลังอุโบสถแล้วสร้างศาลให้ตามคำขอร้อง นำไม้ท่อนนั้นแกะสลักเป็นรูปหน้าผู้หญิงไม่มีแขนขาไว้ภายในให้ชื่อว่า “ศาลนางไม้เจ้าจอม” ผู้คนให้ความเคารพนับถือกันมากเพราะมีความศักดิ์สิทธิ์อภินิหารแก่ผู้คนอยู่ เสมอ
ต่อมาพระวินัยธรฯ ได้ฟื้นฟูวัดบางกุ้งร่วมกับประชาชนจนเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา อีกครั้ง ผู้หญิงแต่งกายชุดไทยโบราณมาปรากฏในนิมิตอีกได้บอกว่าเป็นองค์หญิงพระนามว่า “องค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า)”ต้องการให้สลักรูปองค์หญิงจากไม้ต้นโพธิ์ซึ่งมีอายุประมาณ 100 ปีโดยขอร้องให้แกะสลักทั้งองค์ หลังจากนั้นท่านได้ปรึกษาหารือญาติโยมหาช่างแกะสลัก โดยนายช่างคิดราคาค่าแรง 80,000 บาท (แปดหมื่นบาทถ้วน) เมื่อตกลงราคากันแล้วพอช่างจะลงมือแกะสลักกลับไม่รู้ว่าจะแกะสลักเป็นรูป องค์แบบใด เพราะไม่เคยเห็นรูปร่างหน้าตาองค์หญิงมณฑาทิพย์มาก่อนทำให้แกะสลักไม่ได้ เมื่อการเป็นดังนี้ท่านเจ้าอาวาสจึงลงมือแกะสลักเองทั้งที่ไม่เคยแกะสลักไม้ รูปใดๆ มาก่อนเลย การแกะสลักไม้เป็นรูปคนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ท่านได้ใช้ความพยายามอย่างสูงแกะสลักแบบที่เห็นองค์หญิงในนิมิตเหมือนมี อำนาจอย่างหนึ่งมาดลบรรดาลให้แกะได้สำเร็จ สลักอักษรไว้ที่ฐานว่า “องค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า)”
ภายหลังพระวินัยธร องอาจอาริโยพบหนังสือ “กฎแห่งกรรม” ของคุณท.เลียง พิบูรณ์เข้าโดยบังเอิญพบเห็นเรื่องราวขององค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า) ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2291 เช่นเดียวกับที่เคยนิมิตเห็นน่าจะเป็นองค์เดียวกัน มีเนื้อหาดังนี้ “องค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า) ประสูติเมื่อปลายกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2291 เป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) กับ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ องค์หญิงเป็นพระธิดาของกรมหลวงบวรวังในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ บ้านเมืองมีเหตุเดือดร้อนมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงผู้ใดประจบสอพลอผู้นั้นจะได้ เป็นใหญ่ทั้งที่ไร้ความสามารถ ผู้ครองแผ่นดินได้แต่ลุ่มหลงและเสพสุขในกามา หากใครมีบุตรีต้องนำตัวมาถวายใครขัดขืนจะถูกประหารชีวิต เหลืออยู่ก็แต่กรมหลวงบวรวังในที่ท่านไม่ทรงยอมข้องเกี่ยวกับการเมืองแต่ อย่างใด ไม่คบค้าสมาคมกับใคร เมื่อพระธิดาเจริญพระชันษาเป็นสาวให้แต่งองค์เป็นชายพร้อมทั้งข้าทาสบริวาร ที่เป็นหญิง 300 คน เป็นชายอีก 16 คน จัดให้ฝึกอาวุธเรียนศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวเช่น ฟันดาบ กระบี่กระบอง หมัดมวย ตำราพิชัยสงคราม องค์หญิงทรงเชี่ยวชาญอาวุธตลอดจนเวทมนตร์คาถา ทรงมีความสามารถด้านวิชาอาคมยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกข้าศึกพม่ายกกองทัพประชิดเมือง ผู้เป็นพระบิดาทรงสั่งให้บ่าวไพร่ต่อเรือใหญ่ 30 ลำ เรือเร็ว 10 ลำ เรือแจว 20 ลำ พร้อมด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร อุปกรณ์การก่อสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ลงด้วยอาคมพร้อมเรือคุ้มกันองค์หญิง ซึ่งแต่งกายเป็นชายเยี่ยงชายชาวบ้านธรรมดาหลบหนีออกจากกรุงตอนกลางคืน แต่พระบิดามิได้มาด้วย กองเรือได้ล่องน้ำมาเป็นระยะเวลา 3 วัน พบกองเรือพม่าบรรทุกกระสุน ดินดำ
จึงสั่งให้พลพรรคเข้าโจมตีตอนเวลาดึก จึงเกิดไฟลุกโชติช่วงฆ่าทหารพม่าซึ่งกำลังหลับเพราะเมามายแทบหมดสิ้น จนรุ่งเช้าพม่าส่งกำลังติดตาม องค์หญิงทรงสั่งให้กองกำลังหลบตามป่าชายฝั่งแล้วร่ายเวทมนตร์กำบังพรางตาจน พม่าพ้นไป กองเรือหนีเล็ดรอดไปได้อย่างปลอดภัย แล้วหาทำเลสร้างเมืองเล็กๆ อยู่ เมื่อคราวศึกบางกุ้งองค์หญิงได้ทรงคุมกำลังเข้าช่วยรบพม่าเป็นสามารถจนได้ รับชัยชนะ เมื่อสิ้นอายุขัยดวงพระวิญญาณยังผูกพันกับวัดบางกุ้งยังคงวนเวียนอยู่ที่ศาล คอยแผ่บารมี ให้ความช่วยเหลือผู้ทุกข์ร้อนที่มาขอพึ่งพา
เรื่องความเป็นมาขององค์หญิงมณฑาทิพย์นับว่าพิสดารมากความศักดิ์สิทธิ์ ของศาลองค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า) เป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั่วไปใครมีเรื่องทุกข์ร้อนอย่างไรมาบนบานในสิ่ง ที่ต้องการมักไม่ผิดหวัง เป็นต้นว่าเรื่องหน้าที่การงาน การสอบเข้างาน การสอบเรียน และทางด้านโชคลาภ มีคนได้เลขไปเสี่ยงโชคแล้วรวยมีปรากฏอยู่เสมอ แต่อย่าบนเรื่องเกณฑ์ทหารนะใครไปบนให้ช่วยแน่นอนรับรองถูกชัวร์ เพราะท่านทรงชอบทหารที่มีเลือดนักสู้เต็มตัวเมื่อมีชีวิตอยู่
นี่แหละองค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า) จึงได้ชื่อว่า “เจ้าหญิงผู้หาญกล้า” รักชาติยิ่งชีพ แม้ร่างกายสูญสลายแต่วิญญาณแห่งความรักชาติยังคงอยู่ตราบนิรันดร ควรแก่การสรรเสริญและสักการบูชายิ่งนัก












วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร


 วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร

 

องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นปูชนียสถานอันสำคัญของประเทศไทย อยู่ภายในวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร มีประวัติความเป็นมายาวนานในแผ่นดินสุวรรณภูมิ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ใหญ่ รูประฆังคว่ำ ปากผายมหึมา โครงสร้างเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่เส้นมหึมาก่ออิฐ ถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ ประกอบด้วยวิหาร 4 ทิศ กำแพงแก้ว 2 ชั้น เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า เป็นที่เคารพสักการบูชาของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ทางวัดกำหนดให้มีงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึง วันแรม 5 ค่ำ เดือน 12 รวม 9 วัน 9 คืน เป็น ประจำทุกปี

พระปฐมเจดีย์ หรือเดิมเรียกว่า พระธมเจดีย์ มีฐานะเป็นมหาธาตุหลวง ของแผ่นดินสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยว่า พระธมเจดีย์องค์นี้ อาจเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้น เมื่อคราวที่พระสมณทูต ในพระเจ้าอโศกมหาราช เดินทางมาเผยแผ่ศาสนายังสุวรรณภูมิ ก็เป็นได้ เพราะพระเจดีย์เดิม มีลักษณะทรงโอคว่ำ หรือทรงมะนาวผ่าซีก แบบเดียวกับพระสถูปสาญจี แต่ปรากฏว่ามียอดเป็นแบบปรางค์ ซึ่งพระองค์ฯ มีพระราชวินิจฉัยว่า อาจมีเจ้านายพระองค์ใดมาบูรณะไว้ก็เป็นได้ ซึ่งตรงกับความในศิลาจารึกหลักที่ 2 (ศิลาจารึกวัดศรีชุม) ของ พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ อันได้กล่าวไว้ว่า พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ท่านทรงได้แวะมาบูรณะพระธมเจดีย์องค์นี้ ก่อนที่ท่านจะเดินทางกลับเมืองราด เมื่อคราวที่ท่านเสด็จกลับจากศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกา ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานนามใหม่ว่า พระปฐมเจดีย์ ด้วยทรงเชื่อ ว่านี่คือเจดีย์แห่งแรกของสุวรรณภูมิ นั่นเอง
ในเรื่องนี้ นักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดีบางท่าน ได้ระบุว่า พระปฐมเจดีย์ไม่ได้เป็นเจดีย์ที่เก่าที่สุดของสุวรรณภูมิ แต่เป็น พระมหาธาตุหลวง ในยุคทวารวดี มากกว่า เนื่องด้วยเหตุผลประกอบหลายประการ โดยเฉพาะ การค้นพบเจดีย์ ที่มีอายุเก่าแก่กว่าพระธมเจดีย์ และหลักฐานลายลักษณ์อักษร ที่ระบุว่า " พระเจดีย์องค์นี้ เดิม ขอมเรียก พระธม " ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชาวขอมจริงๆ หรือชาวลวรัฐ ซึ่งสมัยนั้นเราก็เรียกว่าขอม เช่น ขอมสบาดโขลญลำพง คำว่า ธม สำหรับชาวขอมนั้น แปลว่า ใหญ่ ตรงกับคำเมืองว่า หลวง ซึ่งเราก็เรียกพระนครธม ว่า พระนครหลวง ด้วยเหตุผลเดียวกัน
นอกจากนี้พระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรจุที่ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และฐานพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร ตามที่มีพระบรมราชโองการสั่งไว้ในพระราชพินัยกรรม ต่อมา ในพุทธศักราช 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระอังคารของ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 ไปบรรจุไว้เคียงข้างพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 6 ที่ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ต่อมา ใน พุทธศักราช 2555 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสรีรางคาร ของ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ไปบรรจุไว้เคียงข้างพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่6 และพระราชสรีรางคารพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ที่ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์

พระร่วงโรจนฤทธิ์

 

ปี พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระยุพราช เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือได้ทอดพระเนตร พระพุทธรูปโบราณเป็นอันมาก แต่มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่เมืองศรีสัชนาลัย (จังหวัดสุโขทัย) กอปรด้วยพระลักษณะงามเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย แต่ชำรุดมากเหลืออยู่แต่พระเศียร พระหัตถ์และพระบาท จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญลงมากรุงเทพฯ แล้วให้ช่างปั้นสถาปนาขึ้นมาบริบูรณ์เต็มพระองค์ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีเททองหล่อขึ้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานครฯ
พระร่วงโรจนฤทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาของ พุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วไป ชื่อเต็มก็คือ พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร ตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2466 แต่ประชาชนทั่วไป จะเรียกว่า หลวงพ่อพระร่วง หรือ พระร่วงโรจนฤทธิ์
พระร่วงโรจนฤทธิ์ มีขนาดความสูงวัดจากพระบาทถึงพระเกศ 7.42 เมตร หรือราว 12 ศอก 4 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ศิลปะแบบสุโขทัย ประทับยืนอยู่บนฐาน โลหะทองเหลืองลายบัวคว่ำบัวหงาย ทำวงพระพักตร์ตาม ยาว พระหนุเสี้ยมนิ้วพระหัตถ์ และพระบาทไม่เสมอกัน ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น ยื่นออกไปข้างหน้าระดับพระอุระ เป็นกิริยาห้าม มีพระอุทรพลุ้ยออกมา ห่มจีวรบางคลุม แนบติดพระวรกาย บ่ายพระพักตร์สู่ทิศเหนือ ทำด้วยโลหะทองเหลือง หนัก 100 หาบ
การอัญเชิญพระร่วงโรจนฤทธิ์ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2457 จำเป็นต้องแยกชิ้นมาและมาประกอบเข้าด้วย กันที่จังหวัดนครปฐมแล้วเสร็จเป็นองค์สมบูรณ์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้วตามความในพระราชพินัยกรรมของพระองค์ระบุว่าให้ บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ไว้ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ที่องค์พระ ปฐมเจดีย์ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2469 จึงได้ทำพิธีบรรจุ พระบรมราชสรีรังคาร ณ ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร ตาม พระประสงค์ทุกประการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 หลังจากการพระราชทานเพลิงพระศพพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าให้อัญเชิญพระสรีรางคาร มาประดิษฐานไว้เคียงข้างพระบรมราชสรีรางคารของพระสวามี และในปี พ.ศ. 2555 หลังจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าให้อัญเชิญพระสรีรางคาร มาประดิษฐานไว้เคียงข้างพระบรมราชสรีรางคารของพระชนกนาถ และ พระสรีรางคารของพระชนนี ถึงในพระราชพินัยกรรมให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ไว้ใต้ฐานของพระร่วงโรจนฤทธิ์ แต่ในเวลาจริงแล้วพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ประดิษฐานไว้ที่ผนังด้านหลังพระร่วงโรจนฤทธิ์ และยังปรากฏโต๊ะหมู่บูชา เครื่องราชสักการะในห้องพระประสูติ

รูปภาพ
















วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วัดราชบูรณะ ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของวัดมหาธาตุ มีฐานะเป็นพระอารามหลวงในสมัยอยุธยา
ภายในวัดประกอบด้วยองค์ปรางค์ประธาน ซึ่งล้อมรอบด้วย ระเบียงคต มีพระวิหารตั้งอยู่ทาง
ทิศตะวันออก ส่วนพระอุโบสถตั้งอยู่ทางด้านหลังของวัดทางทิศตะวันตกในแนวประธานเดียวกัน
วัดราชบูรณะ โด่งดังมากในเรื่องการขุดพบเครื่องทองมากมายในกรุพระปรางค์ใหญ่
และประชาชนยังสามารถลงไปชมภาพจิตรกรรมฝาฝนังสมัยอยุธยาตอนต้น ภายในกรุได้ด้วย
วัดราชบูรณะจึงเป็นวัดที่นักท่องเที่ยวนิยมเข้าเยี่ยมชมอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ
ประวัติ
วัดราชบูรณะปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารว่า สร้างขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒
หรือ เจ้าสามพระยา ในปี พ.ศ. ๑๙๖๗ คือภายหลังจากสมเด็จพระนครินทราธิราชาสวรรคต
พระราชโอรสองค์ใหญ่สองพระองค์ คือเจ้าอ้ายพระยา ทรงครองเมืองสุพรรณบุรี
และเจ้ายี่พระยาทรงครองเมืองสรรค์บุรี สองพระองค์เสด็จลงมาชิงพระราชสมบัติกันเอง
ต่างทรงช้างเคลื่อนผลมาปะทะกัน ทรงพระแสงของ้าวต้องพระศอขาดพร้อมกัน
เจ้าสามพระยาทรงเป็นโอรสองค์ที่สาม เสด็จลงมาจากชัยนาทมาถึงภายหลัง จึงได้
เสวยราชสมบัติ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒
เมื่อเจ้าสามพระยาทรงขึ้นครองราชย์แล้ว จึงจัดการถวายเพลิงพระศพ พระเชษฐาธิราช
ทั้งสองพระองค์พร้อมกัน สถานที่ที่ถวายพระเพลิงนั้น ก็ทรงอุทิศสร้างพระปรางค์และพระวิหาร
มีนามว่า เจดีย์เจ้าอ้ายพระยาเจ้ายี่พระยา
จุดที่น่าสนใจ
ปรางค์ประธาน มีขนาดสูงใหญ่ ก่อด้วยศิลาแลงบนฐานสี่เหลี่ยม
ซึ่งมีเจดีย์อยู่ทั้งสี่ทิศ มีบันไดขึ้นสู่องค์ปรางค์ทางทิศตะวันออกถือเป็นปรางค์แบบไทย
ที่นิยมทำฐานสูง ต่างจากปรางค์แบบขอมที่มักมีฐานเตี้ย นอกจากนี้หน้าปรางค์เป็นมุขใหญ่
ยืนออกมาเป็นห้องคูหา ส่วนยอดเรียวแหลมสูง คล้ายฝักข้าวโพด ยอดมีฝักเพกาในขณะ
ที่ขอมไม่มี

กรุมหาสมบัติ สิ่งจะมี 2 ตอน คือตอนที่เป็นเรือนธาตุ และตอนกลางองค์พระปรางค์
กรุชั้นบนสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 5 เมตร มีลักษณะเป็นกรุสี่เหสี่ยมจัตุรัส
ขนาดกว้างด้านละ 4 เมตร มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนต้น มีภาพเทพชุมนุมลอยอยู่
บางองค์มีดอกไม้เป็นก้านชูออกไปข้างหน้า ลวดลายเครื่องประดับต่างๆมีลักษณะแบบศิลปะ
สุโขทัย และมีรูปกษัตริย์ หรือนักรบจีนองค์หนึ่งสวมชุดเขียวองค์หนึ่งสวมชุดขาว และอีกองค์
สวมชุดแดง ภาพแสดงเป็นเรื่องราว
กรุชั้นล่างอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 2.20 เมตร มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ
1.20เมตร สูง 2.65 เมตรฝาผนังกรุชั้นล่างเจาะลึกเข้าไปเป็นช่องคูหาทั้ง 4 ด้าน
เพดานเขียนลายดาวตรงกลางล้อมรอบด้วยลายและเขียนกรอบด้วยเส้นลวด
เขียนเป็นลายเส้นดอกไม้สีแดงปิดทองเป็นวงกลมๆ ผนังเหนือซุ้มคูหาแบ่งเป็น 4 ชั้น
ชั้นบนเขียนรูปพระพุทธรูปสลับกับสาวก ผนังซัมคูหา สันนิษฐานว่า เขียนภาพชาดก
ในพระพุทธศาสนานับได้ 60 ชาติ มีภาพพระโพธิสัตว์ในชาดกต่างๆนั้น มีภาพที่พอเห็นชัด
คือภาพโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น นก กวาง ช้าง กาเผือก คนขี่ม้า นกเขา สุนัข และหงส์
นอกนั้นเลือนลาง
ภายในห้องกรุชั้นนี้ เคยเป็นสถานที่เก็บสมบัติและของมีค่าไว้มากมาย อาทิ เช่น พระแสงขันธ์
มงกุฎ และมงกุฏราชินี เสื้อทองคำ และพระพุทธรูปต่างๆ พระแก้ว พระทองคำ พระนาก เป็นต้น
ซึ่งในปี พ.ศ.2499 ขณะที่กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งภายในวัดมหาธาตุ คนร้ายได้ลักลอบ
ขุดกรุในองค์ปรางค์ประธานวัดราชบูรณะได้ของมีค่าจำนวนมาก กรมศิลปากรจึงดำเนินการขุดกรุ
ในองค์ปรางค์ประธานอีกครั้ง พบเครื่องราชูโภคซึ่งทำด้วยทองคำ พระพิมพ์ส่วนหนึ่งนั้น
กรมศิลปากรได้เปิดให้ประชาชนเช่าไปบูชา เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งมาสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
เจ้าสามพระยา และนำสิ่งของที่ได้จากกรุมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้


การเดินทาง
หากเดินทางมาจากรุงเทพโดยใช้ถนนสายเอเชีย(ทางหลวงหมายเลข 32)เลี้ยวซ้าย
ตรงสี่แยกเข้าอยุธยา ตรงเข้ามาผ่านสะพานนเศวร ตรงไปจนถึงสี่แยกไฟแดงที่ ๒
เลี้ยวขวาตรงไปไม่ไกลนัก ผ่านบึงพระราม จะเห็นวัดมหาธาตุอยู่ทางซ้ายมือ แล้ว
วัดราชบูรณะจะอยู่ถัดออกไป
เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น.
ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท หมายเหตุ ตั้งแต่เวลา
ประมาณ 19.30น.- 21.00น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน