วัดพระพุทธฉาย สระบุรี

วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556








  พระพุทธฉาย (เงาพระพุทธเจ้า) คือเงาเลือนลางที่เป็นรอยประทับอยู่ที่หน้าผา เชิงเขา บริเวณวัดพระพุทธฉาย มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูปยืน สันนิษฐานว่าค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้สร้างวัดพระพุทธฉาย ราวพ.ศ.๒๑๖๓-๒๑๗๑
ตำนานพระพุทธฉายโดยย่อ พระพุทธเจ้าเสด็จมาที่เขาฆาฏกะ(เขาพระพุทธฉาย)เพื่อโปรดนายพรานฆาฏกะจน สำเร็จพระอรหันต์ ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จกลับ พระฆาฏกะได้ทูลขอให้ประทานสิ่งอันเป็นอนุสรณ์ เพื่อสักการะกราบไหว้ พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพุทธปาฏิหาริย์ให้เงาของพระองค์ติดอยู่ในเนื้อหิน ที่เงื้อมเขาพระพุทธฉายบรรพต
         พระพุทธฉาย(เงาพระพุทธเจ้า) เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานติดอยู่ ณ เงื้อมเขาพระพุทธฉาย อยู่ภายในมณฑปสองยอดบนไหล่ภูเขา อยู่ในเขตหมู่ที่ ๑ ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ทางเข้าวัดพระพุทธฉาย เป็นถนนแยกจากถนนพหลโยธิน ตรงกิโลเมตรที่ ๑๐๒ (หมู่บ้านโคกหินแร่ ตำบลหนองยาว) เข้าไป ๕ กิโลเมตร (ระยะทางตามถนนจากตัวเมืองสระบุรี ลงทางใต้ ๖ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไป ๕ กิโลเมตร) ก็จะถึงที่ประดิษฐานพระพุทธฉายได้โดยสะดวก
           สันนิฐานว่า พระพุทธฉาย(เงาพระพุทธเจ้า) ค้นพบในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี หลังจากพบรอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธฉาย ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๖๓-๒๑๗๑) สมัยที่ค้นพบพระพุทธฉายได้สร้างพระมณฑปครอบพระบรมฉายาลักษณ์ไว้เป็นสถานที่ เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน ตลอดจนพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อมา และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง เป็นต้น จากพงศวดารตำนานที่ปรากฎชัดว่า "สมเด็จพระเจ้าเสือพร้อมด้วยเชื้อพระวงศ์และข้าราชการบริพาร ได้เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธฉาย แล้วเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท เป็นต้น จนถึงกษัตริย์พระองค์สุดท้ายสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ พระองค์ได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธฉายก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา ๓ ปี (พ.ศ.๒๓๐๗)
          ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนมาศ (เจิม) หน้า ๔๘๔ ได้กล่าวไว้ในบท "สมโภชพระพุทธฉาย" เกี่ยวกับพระพุทธฉายว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ว่า "ครั้นเดือนอ้ายเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธฉาย แรมอยู่ ๓ วัน ฯลฯ แล้วเสด็จกลับมาสมโภชพระพุทธบาท ๗ วัน"
      จากประวัติและพระราชพงศาวดารดังกล่าวมาแสดงให้เห็นว่า พระพุทธฉายได้เจริญมาสมัยหนึ่งแล้ว ปรากฎจากหลักฐานและวัตถุโบราณนานับประการ ที่ยังปรากฎเป็นหลักฐานจนถึงปัจจุบันนี้ เช่นมณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองบนยอดเขาลม วัดพระพุทธฉาย เป็นต้น แต่เนื่องจากภัยทางสงคราม บ้านเมืองไม่สงบสุข มีการรบทัพจับศึก เกิดการระส่ำระสายเปลี่ยนแปลงแผ่นดินบ้านเมืองเดือดร้อน ดังปรากฎในประวัติศาสตร์ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาจนกว่าจะตั้งกรุงธนบุรี และกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นเมืองหลวง พระพุทธฉายก็ได้ถูกทอดทิ้งมาเป็นเวลาช้านานจนชำรุดทรุดโทรมลง มณฑปเดิมซึ่งสร้างไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และศาสนสถานถาวรวัตถุต่างๆ ได้ขาดการดูแลเอาใจใส่และภัยธรรมชาติได้ทำลายเสียหายเป็นอย่างมาก



          กาลเวลาได้ผ่านมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการบูรณะฟื้นฟูพระพุทธฉายอีกครั้งหนึ่ง ตามศิลาจารึกที่ค้นพบเป็นหลักฐานว่า "พระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๒๓๗๔ ปีมะโรง นักษัตรจัตวาศก มีพระคุณเจ้าสมภาร ๔ วัด คือพระปลัดวัดปากเพรียว ๑ สมภารวัดบางระกำ ๑ สมภารดวง วัดเกาะเลิ่ง ๑ และสมภารวัดบางเดื่อ ๑ สมภารทั้ง ๔ พร้อมทั้งญาติโยมได้มีอุสาหะพากันมาบูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธฉาย เป็นเวลาถึง ๗ ปี และในปีที่ ๘ จึงพระมหายิ้ม ได้มาร่วมกับสมภารทั้ง ๔ พร้อมด้วยญาติโยม ได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมากรระเบียงมณฑป ลงลักปิดทอง บ้างจำลองลายสุวรรณอันบวร ปฏิสังขรณ์พระสถูปเจดีย์ สร้างหอระฆัง สร้างศาลา เป็นต้น
        ด้านยอดเขา ได้บูรณะพระมณฑปและลานพระโมคคัลลานะขุดสระบ่อน้ำ บูรณะพระอุโบสถ และตบแต่งสถานที่เป็นเวลาอีก ๓ ปี จนถึงปีฉลูจึงเสด็จตามความประสงค์ ได้จัดมหกรรมฉลององค์พระพุทธฉาย เมื่อปีเถาะ เบญจศก" จากศิลาจารึกที่นำมาโดยสังเขปนี้ จะเห็นได้ว่าพระพุทธฉายได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์มาในระยะหนึ่ง กาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช และสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จมาฟื้นฟูบูรณะพระพุทธฉายทรงสร้างมณฑปขึ้นใหม่เป็นมณฑปสองยอดแทนมณฑป เดิม และทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุอื่นๆ มีเสนาสนะสงฆ์ เช่น ศาลา พระอุโบสถบนยอดเขาพระพุทธฉาย ปฏิสังขรณ์มณฑปครอบรอยพระบาทจำลองยอดเดี่ยว
        บนยอดภูเขาด้านตะวันออกพระอุโบสถบริเวณลานพระโมคคัลลานะ วัดพระพุทธฉาย ซึ่งยังเหลือเป็นอนุสรณ์อยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ นอกจากนั้นพระองค์พร้อมด้วยพระราชวงศ์และข้าราชบริพาร ยังได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธฉายอีกหลายครั้ง ดังปรากฎในประวัติศาสตร์การประพาสต้นและจดหมายเหตุ การบำเพ็ญพระราชกุศลนับเนื่องเกี่ยวกับพระพุทธฉาย เกี่ยวกับพระอุปัชฌาย์รัน และพระอธิการรูปอื่นๆ อีกมาก ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ติดอยู่ ณ เงื้อมผาด้านทิศตะวันตกของพระมณฑปพระพุทธฉาย พร้อมด้วยนามาภิไธยพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งปรากฎชัดจนถึงปัจจุบันนี้ ในรัชกาลต่อๆ มาก็ได้มีพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จมาพระพุทธฉายเป็นประจำ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าลูกเธอฯ ได้เสด็จมาทรงทอดผ้าพระกฐิน เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๖
          พระพุทธฉายได้บูรณะซ่อมสร้างมาเป็นเวลาช้านาน ชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก จนทางข้าราชการร่วมกับคณะสงฆ์เห็นว่าจะปล่อยทิ้งรกร้างไว้อีกต่อไปไม่ได้ ปูชนียสถานที่สำคัญจะถูกทำลายลง จึงได้ส่ง พระครูพุทธฉายภิบาล (นาค ปานรัตน์) มาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๑ เพื่อบูรณะซ่อมสร้างสถานที่พระพุทธฉายให้เจริญต่อไป เจ้าอาวาสได้ซ่อมแซมใหญ่ โดยซ่อมที่มณฑปที่ชำรุดซึ่งสร้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงเทพฯ บนยอดภูเขาตามเดิม ส่วนมณฑปเก่าครอบพระบาทจำลองบนยอดเขายังคงไว้เป็นอนุสรณ์ ในลำดับต่อมาได้สร้างบันไดจากพื้นล่างด้านตะวันออกพระพุทธฉายขึ้นไปจนถึงยอด ภูเขายาวประมาณ ๒๗๐ ขั้น เพื่อให้ความสะดวกแก่ประชาชน จะได้ขึ้นไปนมัสการพระพุทธรูปปางต่างๆ ข้างบนและภายในอุโบสถ โดยบูชารอยพระพุทธบาทจำลองและชมวิวทิวทัศน์อันสวยสดงดงาม พร้อมด้วยบูชาสักการะพระรูปพระโมคคัลลานะ ที่ได้สร้างขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ ประดิษฐานอยู่ ณ ลานพระโมคคัลลานะ ในวิหารพระปฏิมากรเป็นประหนึ่งสังเวชนียสถานอันจะเกิดเป็นกุศลผลบุญต่อไป
      พระพุทธฉาย คือเงาเลือนลางที่เป็นรอยประทับอยู่บนหน้าผามีลักษณะคล้ายพระพุทธรูปยืน หน้าผาแห่งนี้อยู่ในบริเวณวัดพระพุทธฉาย ซึ่งตั้งอยู่บนเชิงเขา วัดนี้สร้างในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ตามตำนานกล่าวว่าในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จมาที่เขาฆาฏกะ (เขาพระพุทธฉาย) เพื่อโปรดพรานฆาฏกะ ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จกลับ พรานได้ทูลขอให้ประทานสิ่งอันเป็นอนุสรณ์ พระพุทธองค์จึงทรงกระทำพุทธปาฏิหาริย์ ให้พระฉายาลักษณ์ของพระองค์ติดอยู่กับเขาที่เงื้อมผาเขาพระพุทธฉายบรรพต
รูปพระพุทธฉาย ณ บริเวณเงื้อมผาฆาฏกะ (เขาพระพุทธฉาย) มีลักษณะเป็นเส้นเงาสีแดง คล้ายสีดินเทศ สูงประมาณ ๕ เมตร



       รอยพระพุทธบาทเบื้องขวา วัดพระพุทธฉาย ประทับรอยอยู่ในเนื้อหินยอดเขาลม(เขาพระพุทธฉาย) สันนิษฐานว่า มีการค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม กรุงศรีอยุธยา ในครั้งนั้นมีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งออกไปถึงลังกาทวีปเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่ เขาสุมณกูฏถูกพระสงฆ์ลังกาถามว่า รอยพระพุทธบาทที่มีอยู่ทั้งหมดนั้น เขาสุวรรณบรรพตก็อยู่ในประเทศไทยคนไทยไม่ไปบูชารอยพระพุทธบาทที่นั่นดอกหรือ จึงต้องออกมาบูชาถึงลังกาทวีป พระภิกษุสงฆ์จำนวนนั้นกลับมานำความขึ้นบังคมทูลพระเจ้าทรงธรรม พระองค์จึงโปรดให้มีตราสั่งไปยังหัวเมืองเที่ยวตรวจค้นดูตามภูเขาว่าจะมีรอย พระพุทธบาทอยู่ ณ ที่แห่งใด
           เมื่อค้นพบจึงโปรดให้สร้างเป็นมหาเจดียสถานมีพระมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท และโปรดให้สร้างสังฆารามแล้วทรงพระราชอุทิศที่ส่วนหนึ่งโดยรอบพระพุทธบาทและ พระพุทธฉายถวายเป็นพุทธบูชาต่อมาถึงรัชสมัยพระเสือ ราว พ.ศ.๒๒๔๖-๒๒๕๑ ปรากฏว่า ทรงปฏิสังขรณ์พระมณฑปโปรดให้เปลี่ยนแปลงเป็นพระมณฑป ๕ ยอด โดยไม่มีผู้ใดซ่อมแซมอีกเลย รวมอายุของพระมณฑปนับจากสมัยพระเจ้าเสือได้ประมาณเกือบ ๔๐๐ ปี
        เหตุที่พระมณฑปซึ่งมีอายุเกือบ ๔๐๐ ปี คงสภาพอยู่ได้ก็คงด้วยอำนาจความศักดิ์สิทธิ์แห่งรอยพระพุทธบาทเป็นแน่แท้ ไม่เช่นนั้นแล้วคงตั้งอยู่ไม่ได้แน่เพราะเหตุมีพายุฝนหลายครั้งหลายหนด้วย กันจนสิ่งปลูกสร้างขึ้นภายหลังยังถูกพายุฝนพัดพังพินาศจนหมดสิ้นคงเหลืออยู่ แต่พระมณฑปหลังนี้เท่านั้นเป็นที่อัศจรรย์
        ปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ โดยกรมศิลปากรได้ตั้งงบประมาณเพื่อบูรณะซ่อมแซมพระมณฑป ๕ ยอดซึ่งชำรุดทรุดโทรมไปมากตามกาลเวลา และได้เข้าดำเนินการซ่อมแซม เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๗ การซ่อมแซมดำเนินการมาถึงเดือน สิงหาคม ช่างได้เคลื่อนย้ายรอยพระพุทธบาทจำลองออกไป เพื่อจะทำการซ่อมแซมนั้น ขณะที่เคลื่อนย้ายรอยพระพุทธบาทจำลองออกไป และทำการทุบพื้นซีเมนต์เก่า ก็พบว่าภายใต้พื้นปูนซีเมนต์เก่านั้น มีทรายหยาบๆ อยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อคุ้ยทรายออกจึงปรากฎเห็น "รอยพระพุทธบาท" เด่นชัด ลักษณะเป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ตรงกลางมีรอยธรรมจักร ถูกต้องตามลักษณะทุกประการ ฯ
ขอบคุณ.....ข้อมูลจาก  นิตยสาร ผู้พิทักษ์ ปวงชน






















0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น